Article (บทความ)

  • Home
  • Article
  • 5 easy steps for creating a marketing plan
alternative information

5 easy steps for creating a marketing plan

5 ขั้นตอนง่ายๆสำหรับสร้างแผนการตลาด

เรื่องแรกที่คุณต้องทำก็คือเข้าใจความต้องการของลูกค้า คุณทราบหรือไม่ว่าทำไมลูกค้าจึงได้ซื้อสินค้าหรือบริการของคุณ? ราคาที่คุณตั้งไว้เหมาะสมแล้วหรือยัง? คุณใช้วิธีแบบง่ายๆอย่างการลดราคาลงร้อยละ 20 ถึง 30 เมื่อลูกค้าเริ่มหดหายหรือสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นใช่หรือไม่? คุณได้ตั้งเป้าเรื่องการตลาดหรือเป้ายอดขายในช่วง 12 เดือนข้างหน้าแล้วหรือยัง?

คุณไม่จำเป็นต้องใช้กราฟที่หวือหวาหรือที่ปรึกษาค่าตัวแพงมาพัฒนาแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพให้คุณแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามคุณจำเป็นต้องมีแผนอยู่ดี แผนงานทางการตลาดจะช่วยให้คุณมองเห็นแนวทางที่ถูกต้องและขั้นตอนการลงมือทำงานต่างๆได้ แผนการตลาดสามารถช่วยคุณ

 

 

  1. แยกแยะว่าลูกค้ากลุ่มใดคือกลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุดของคุณ
  2. เปรียบเทียบข้อมูลของบริษัทกับข้อมูลของอุตสาหกรรมหรือตลาด
  3. คอยติดตามผลลัพธ์เพื่อที่คุณจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ใช้ได้ผลบ้าง

 

ถ้าหากไม่มีแผน คุณอาจเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่คุณอาจไปไม่ถูกทิศทางก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากแนะนำขั้นตอน 5 ประการที่จะช่วยให้คุณสร้างแผนงานการตลาดที่ใช้งานได้อย่างแท้จริงขึ้นมาได้

 

ขั้นตอนที่ 1: กำหนดจุดยืนของผลิตภัณฑ์้

 

เจ้าของธุรกิจจำนวนมากสับสนเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมต่างๆเหล่านี้เป็นช่องทางในการแจ้งข่าวสารหรือโครงการต่างๆออกไป ไม่ใช่การตลาดแต่อย่างใด การตลาดประกอบด้วยองค์ประกอบ 4P คือ

 

  1. สินค้า (product): คุณมีสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับตลาดแล้วหรือยัง
  2. ราคา (price): การขายสินค้าหรือบริการในปริมาณที่ทำให้กล่มลูกค้าเป้าหมายรู้สึกพอใจ
  3. การส่งเสริมการขาย (promotion): การสร้างมุมมองที่เหมาะสมสำหรับช่องทางต่างๆ อาทิเช่นสิ่งพิมพ์ (จดหมาย ใบปลิว โบรชัวร์ และโปสการ์ด) โฆษณาทางทีวีหรือวิทยุ โฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โฆษณาออนไลน์และอื่นๆอีกมาก
  4. สถานที่ (place): ช่องทางการส่งสินค้าไปยังจุดที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถหาซื้อได้

 

ถ้าหากคุณเสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม ในราคาที่เหาะสม ให้แก่ลูกค้าที่เหมาะสมได้ นั่นแสดงว่าคุณบรรลุเป้าหมายที่ต้องการแล้ว คุณต้องจำเอาไว้เสมอว่ายอดขายในปริมาณมากๆไม่ใช่กุญแจสำคัญแต่อย่างใด กำไรต่างหากคือกุญแจสำคัญ เป้าหมายของการทำตลาดก็คือการสร้างความสนใจที่นำไปสู่การขายที่ทำกำไรได้ ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่เราต้องวางนโยบายขึ้นมา คุณต้องการจัดส่งข่าวสารชี้ชวนไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนั้นคุณยังต้องการข่าวสารที่ให้สัญญาในสิ่งที่คุณสามารถจัดสรรให้แก่ลูกค้าได้อย่างแท้จริงเท่านั้นด้วย

 

การทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นในโปรแกรม Microsoft Office Publisher(ที่ให้มาพร้อมกับ Microsoft Office Small Business Management Edition 2006) คุณสามารถสร้างแผนการตลาดชั้นยอดขึ้นมาได้โดยง่าย โดยใช้หนึ่งใน 40 ตัวอย่างชุดออกแบบหลัก (Master Design Sets) เท่านั้นเอง จากนั้นสื่อโฆษณาชนิดต่างๆของคุณก็จะมีหน้าตาที่สอดคล้องกัน นอกจากนั้นคุณยังสามารถดาวน์โหลดเท็มเพล็ตทางการตลาดจาก Office Online Template Gallery มาใช้ได้ด้วย โมเดลวิซาร์ดซึ่งใช้งานได้อย่างคล่องตัวจะช่วยให้คุณแก้ไขเทมเพล็ตเหล่านี้ให้สอดคล้องกับตราสินค้าของบริษัทของคุณได้อย่างรวดเร็ว หรือใช้เครื่องมือออกแบบและวางเลย์เอาท์สมบูรณ์แบบ Publisher เพื่อสร้างชิ้นงานที่มีหน้าตาลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมาก็ได้

 

ขั้นตอนที่ 2 พึ่งพาความรู้ของคนที่คุณเชื่อใจ

 

ถ้าหากต้องการกำหนดแผนการตลาดที่เหมาะสมสำหรับบริษัทของคุณ ให้คุณจัดประชุมระดมสมองร่วมกับที่ปรึกษาที่คุณไว้วางใจ อาทิเช่นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน พนักงาน หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ การประชุมอาจอยู่ในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันอย่างไม่เป็นทางการ หรือจัดประชุมนอกสถานที่อย่างเป็นทางการก็ได้ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือจงอยู่ห่างจากโทรศัพท์ และจงอย่าคาดหวังว่าจะได้ทุกอย่างจากการประชุมแค่ครั้งเดียว โดยในระหว่างที่ทำการประชุม คุณต้องหาทางตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

  1. คุณจะขายสินค้าให้ใคร?
  2. ลูกค้าเหล่านี้ต้องการอะไร?
  3. อะไรที่ทำให้สินค้าหรือบริการของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง?
  4. กลยุทธทางการตลาดอะไรที่ทำให้สินค้าเป็นที่สนใจ?
  5. จะทำการตลาดเมื่อไหร่และบ่อยครั้งขนาดไหน?
  6. อีกหนึ่งปีคุณอยากให้บริษัทมีสภาพเป็นอย่างไร?

คุณน่าจะพิจารณาจัดประชุมโดยแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆดังกล่าวข้างต้น จากนั้นทำการกลั่นกรองแนวคิดและข้อเสนอที่ดีที่สุดออกมา เริ่มต้นโดยการจดบันทึกลงไปในกระดาษ อธิบายสภาพและขนาดของตลาดของคุณ การขายและช่องทางการจำหน่ายทำงานอย่างไร กลุ่มลุกค้าเป้าหมาย (อายุ รายได้ ที่อยู่และรูปแบบการซื้อ) และสินค้าของคุณเทียบกับคู่แข่งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

 

ขั้นตอนที่ 3 รับฟังลูกค้า

 

ขั้นต่อมา คุณจำเป็นต้องทราบว่าลูกค้ามีปฏิกริยาต่อคุณภาพ ราคา บริการ การส่งสินค้า ภาพพจน์ และตราสินค้าของคุณอย่างไรบ้าง หรือกล่าวโดยสรุปก็คือมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขา

การที่จะรู้ว่าลูกค้าคิดอย่างไร คุณก็แค่ถามพวกเขาเท่านั้นเอง ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งลูกค้ากลุ่มใหม่ที่คุณต้องการเข้าถึง ทำการสอบถามทางโทรศัพท์ด้วยตนเองหรือส่งแบบสำรวจไปทางอีเมล์หรือไปรษณียบัตร มีการแจกของรางวัลบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้มีผู้ตอบแบบสอบถามมามากๆ อาทิเช่นส่วนลดหรือตัวอย่างแจกฟรีเป็นต้น

เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า ตัวอย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งทราบจากแบบสอบถามว่ารีเซฟชันของตนพูดจาไม่ดีกับลูกค้าทางโทรศัพท์ คุณจะทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าหากคุณไม่ได้ถามลูกค้า

นำข้อมูลที่คุณได้รับมาทำการวิเคราะห์ SWOT ซึ่งเหมือนเป็นการชำแหละธุรกิจของคุณออกมาเป็นส่วนๆนั่นเอง

  1. จุดแข็ง: อะไรที่ทำให้บริษัทของคุณประสบความสำเร็จ?
  2. จุดอ่อน: อะไรคือจุดอ่อนของคุณ
  3. โอกาส: สภาพตลาดแบบใดหรือตลาดเซกเมนท์ใดที่ช่วยให้บริษัทเติบโตได้?
  4. ภัยคุกคาม: คู่แข่งมีผลกับคุณมากน้อยเพียงใด?

 

ขั้นตอนที่ 4 ร่างแผนการขึ้นมา

 

ในตอนนี้เมื่อคุณมีรายละเอียดของลูกค้าและสภาพของตลาดแล้ว นั่นหมายความว่าคุณสามารถจัดทำแผนการตลาดขึ้นมาได้แล้ว แผนการไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่ในแผนนี้อย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเห็นที่ได้จากพนักงานหรือที่ปรึกษาภายนอก รวมทั้งเตรียมเอาไว้ใช้อ้างอิงในภายหลังด้วย แผนการควรประกอบด้วย

 

  1. สรุปสภาพตลาดและเป้าหมายของคุณ
  2. สิ่งที่คุณคาดว่าจะทำให้สำเร็จในช่วงเวลาที่กำหนด
  3. (อาทิเช่น "เราจะขายอุปกรณ์ให้ได้ 150 เครื่องภายในไตรมาสที่สี่")
  4. รายการของตลาดเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยตลาดเซกเมนท์ต่างๆ รวมทั้งตลาดเฉพาะทางด้วย
  5. นโยบายที่เหมาะสมสำหรับตลาดแต่ละเซกเมนท์
  6. ค่าใช้จ่ายและทรัพยากร รวมทั้งวิธีการจัดสรร
  7. ช่องทางการทำตลาด ตรงจุดนี้คุณต้องเลือกประเภทของสื่อที่ใช้ในการทำตลาดและกลไกที่ใช้แจกจ่ายสื่อดังกล่าว เพื่อดึงดูดลูกค้าเป้าหมาย อาทิเช่นใบปลิว ไปรษณียบัตร การทำตลาดทางอีเมล์ จดหมายข่าว เว็บไซต์และอื่นๆอีกมาก
  8. นโยบายในการแข่งขัน คุณจะรับมือกับคู่แข่งได้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น ถ้าหากคู่แข่งลดราคาสินค้าของตนเองลง

 

ขั้นตอนที่ 5: ติดตามผลลัพธ์

 

ใส่การประเมินผลลงไปในแผนการของคุณด้วย ใช้การวัดผลดังกล่าวเพื่อดูว่ากิจกรรมการตลาดของคุณได้ผลหรือไม่ หรือคุณควรคิดทบทวนแนวทางของคุณเสียใหม่้

คำนวณหมวดหมู่และค่าใช้จ่ายในการทำตลาดแต่ละช่องทาง จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับการคาดการณ์เรื่องยอดขาย

ถ้าหากคุณทำตลาดโดยใช้วิธีการส่งจดหมายออกไป คุณสามารถตรวจสอบว่าแผนงานเป็นอย่างไรบ้างได้โดยการสร้างสเปรดชีทใน Excel ซึ่งแจกแจงยอดสั่งซื้อแต่ละรายการเอาไว้ ซึ่งวิธีการนี้จำเป็นต้องระบุข้อมูลลูกค้าด้วย (อาทิเช่นหมายเลขประจำตัวของลูกค้า) นอกจากนั้นคุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีแผนการดำเนินงานหรือปฏิทินการทำตลาดลงไปด้วย แผนการตลาดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากคุณไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบ กำหนดเส้นตาย และกำหนดบุคคลที่ต้องรับผิดชอบแล้วละก็ แผนการตลาดจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ท้ายสุด อย่ามัวหลงระเริงในชัยชนะของตนเอง ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคุณต้องเตรียมตัวอยู่เสมอ คุณต้องทบทวนแผนการเป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่าคุณจำเป็นตองปรับเปลี่ยนเป้าหมายใดๆหรือไม่

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.ksmecare.com/